7 วิธีที่จะทำให้ชีวิตพบกับความสำเร็จ

มีหลายๆวิธีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ มีหลายคนบอก หลายคนคิด หลายคนทำ ได้ผลมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จำไว้เถอะว่าทุกๆตำราใช้ได้เสมอ เพียงแต่ว่าเรามีตั้งใจที่จะทำตามมันจริงๆหรือเปล่า และอดทดรอความสำเร็จนั้นได้หรือเปล่า บางคนท้อแล้วล้มเลิกก่อนที่ได้เห็นความสำเร็จนั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้ประสบความสำเร็จจะต้องลุกขึ้นสู้ใหม่และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หากผู้ใดยอมแพ้ ชีวิตจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออาจจะถอยหลังลงเรื่อยๆ ฉะนั้น ชีวิตของเราจึงต้องมีจุดหมายปลายทาง มีความหวัง และมีความทะเยอทะยานอยู่เสมอ

ต่อไปนี้เป็น 7 วิธีที่จะทำให้ชีวิตของเราพบกับความสำเร็จ
1. ต้องคิดในแง่บวก คิดว่าทุกอย่างต้องทำได้ ลบความคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ออไปจากจิตใจ
2. ต้องตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้อย่างแน่นอน และทำตามเป้าหมายที่วางให้สำเร็จ หากไม่สามารถทำได้ก็อย่าหยุดความตั้งใจ ให้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ให้เหมาะสม
3. ต้องวางแผนปฏิบัติเป็นขั้นตอน เริ่มทำจากสิ่งง่ายๆหรือเล็กๆ แล้วจึงขยับขยายไต่เต้าขึ้นไปทีละขั้นๆ เพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมั่นคง
4. ต้องพร้อมเสมอที่จะรับมือกับปัญหาและอุปสรรค ที่อาจเกิดขื้นได้ตลอดเวลาโดยไม่กลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
5. ต้องกล้าคิด กล้าวางแผน และกล้าลงมือปฏิบัติก่อนที่ผู้อื่นจะชิงลงมือเสียก่อน
6. ต้องพร้อมเสมอที่จะเสียสละ เพื่อแลกกับความสำเร็จในวันข้างหน้า
7. อย่าหยุดแค่ความสำเร็จสูงสุดของวันนี้ ให้สร้างเป้าหมายใหม่ที่สูงขื้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นทำเป้าหมายนั้นต่อไป เพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต

ทั้ง 7.วิธีนี้ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตนี้จะต้องมุ่งมั่นทำให้ได้ ดังนั้น ขอให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่เพื่อความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า เพราะ ชีวิตเป็นของท่าน ท่านเป็นผู้กำหนดเองครับ

ที่มา: www.cmprice.com

คิดดีๆ ก่อนมีหนี้

คิดดีๆ ก่อนมีหนี้

สวัสดีครับ วันนี้ขอนำเสนอเรื่องหนี้ซักเล็กน้อย หนี้มีข้อดีถ้านำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ และสร้างดอกออกผล ไม่เป็นภาระต่อการชำระในภายหลัง ฉะนั้นก่อนที่จะเป็นหนี้ ต้องคิดดีๆก่อน ก่อนที่จะมีสภาพที่ว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วสร้างหนี้เพิ่มจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผมเองก็มีบัตรเครดิตหลายใบ ก็เข้าหาข้อมูลตามเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆที่ให้บริการบัตรเครดิต ได้พบบทความดีๆ คิดว่าเป็นประโยชน์จึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อกให้ทุกๆท่านได้อ่านกัน แต่ถ้าต้องการข้อมูลแบบเต็มๆละก็ไปตามเว็บที่มาของข้อมูลได้ ซึ่งผมระบุไว้แล้วที่ท้ายบทความนี้แล้ว

1.1 เราอยากได้เงินไปทำอะไร ?
ก่อนที่จะรับเงินที่คนอื่นหยิบยื่นให้ คิดสักนิดก่อนดีไหมว่าเราอยากได้เงินมาทำอะไร จะเอาเงินที่ได้มานั้นไปซื้ออะไร แล้วจะเอาของที่ซื้อมานั้นไปใช้ทำอะไร

คนเราทุกคนมีของที่ “อยากมี อยากได้” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ของที่อยากได้นั้น บางอย่างอาจจะไม่ “จำเป็น” ก็ได้ ให้นึกย้อนกลับไปถึงคาถาที่ให้ไว้เพื่อจะได้ยั้งใจเลือกซื้อแต่ของที่จำเป็น

1.2 ของอะไรที่จำเป็นหรือควรซื้อ?
พอได้เงินที่เสมือนหนึ่งมีคนหยิบยื่นให้ง่ายๆ มักจะนึกถึงแต่ว่าอยากได้ ลืมคำว่า “จำเป็น” ไปสนิท จงถามตัวเองต่อไปว่า ของที่คิดว่าจะซื้อ จะซื้อไปทำอะไร มีของเดิมที่ใช้ได้อยู่แล้วหรือไม่ หรือมีของอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนกันได้หรือเปล่า ถ้ามีอยู่แล้วก็แสดงว่าที่กำลังอยากจะได้นั้น ไม่ได้ “จำเป็น” จริง แต่ถึงจะเป็นของที่ไม่เคยมี ก็ไม่ได้หมายความว่าควรซื้อเสมอไป

อย่าคิดแต่เพียงความสะดวกสบายอย่างเดียว ทั้งนี้ ต้องเปรียบเทียบกับภาระที่ตามมาด้วย ไม่ใช่ซื้อมาแล้วสะดวกสบายกาย แต่กลับกลายเป็นภาระให้กับเจ้าของต้องร้อนใจเหนื่อยกายหาเงินมาผ่อน

เช่น ถ้าถามว่า ซื้อรถยนต์ ควรซื้อไหม แต่ละคนก็มีคำตอบไม่เหมือนกัน สำหรับหนุ่มโสด ทำงานบริษัทในเมือง ที่มีบ้านอยู่ใกล้เมืองสามารถขึ้นรถไฟฟ้าหรือบริการรถสาธารณะได้ เมื่อคิดทบทวนถึงผลได้ผลเสียแล้ว คงจะตอบในเบื้องต้นได้ว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อรถ เพราะไหนจะค่ารถราคาหลายแสนหรือเป็นล้านบาท อาจจะต้องมีภาระผ่อนอีกหลายปี ค่าบำรุงรักษารถยนต์ ที่สำคัญคือค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน แทนที่จะได้รับความสะดวกสบาย กลายเป็นว่าต้องมาเป็นภาระเพิ่มขึ้นไปอีกหลายปี

แต่ถ้าหนุ่มคนเดียวกันนี้เป็นเซลส์แมน และต้องมีรถเพื่อใช้ในการทำงาน ขับไปหาลูกค้าต่างจังหวัด แต่สามารถเบิกค่าน้ำมันได้ ก็เห็นว่าควรจะซื้อเพราะเป็นการลงทุนเพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และจะยิ่งมีเหตุผลควรซื้อมากขึ้นถ้าพ่อหนุ่มสามารถหารายได้เสริมโดยการให้บริการเช่ารถในวันหยุด หรือใช้รถเป็นสื่อแปะป้ายโฆษณาหาเงินเข้ากระเป๋าเหมือนกับที่เห็นวิ่งกันในถนนหลายคัน

1.3 ซื้ออะไรก่อน?
ปัญหาที่คนจำนวนไม่น้อยพบคือ ไม่ว่าจะคิดวนไปวนมากี่รอบ ก็พบว่าของชิ้นไหนรายการไหนก็จำเป็นไปเสียหมด จะตัดรายการนี้ก็ไม่ดี จะข้ามของชิ้นนั้นก็ไม่ได้ แต่ปัญหาคือเงินในกระเป๋ามีไม่พอที่จะซื้อได้ทุกอย่างฉะนั้นจะทำอย่างไรดี

เทคนิคที่จะแนะนำคือทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองก่อน อะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ก็ต้องกันเอาไว้ส่วนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นมีอะไรบ้าง เช่น กินข้าวนอกบ้านเดือนละ 4 ครั้ง ค่าบุหรี่ เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทำให้ท่านรู้สภาพการเงินของตนเองว่า เดือนๆ หนึ่งนั้นรายรับพอกับรายจ่ายหรือไม่ มีเงินเหลือเก็บพอให้ซื้อของเพิ่มเติมหรือเปล่า

ทีนี้ถ้ามีเงินเหลือผ่อนแค่ชิ้นเดียว แต่อยากได้ของห้าชิ้น ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของของแต่ละชิ้น โดยยึดเอาความ “จำเป็น” ของผู้ใช้เป็นหลัก อย่างนี้ก็จะง่ายขึ้น

และต้องจำไว้ว่า ของไม่จำเป็นหลายอย่างที่เรากู้ซื้อมา ทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขึ้นมาทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ “หนี้” เป็นค่าใช้จ่ายตัวแรกที่เราต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ตามกฎหมายค่ะ เพราะถ้าเราจ่ายไม่ครบตามจำนวนหรือตามเวลา เจ้าตัววายรายที่ชื่อว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้” มันจะเพิ่มค่าทวีคูณภาระของเราให้ทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา: http://www.tescolotusmoney.com